นายศักดิ์ชัย โชติมานนท์ ปลัดจังหวัดราชบุรี เป็นประธานในการเสวนาเรื่องการจัดวิ่งบนถนน และกิจกรรมวิ่งเทรล ภายหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง จ.ราชบุรี เมื่อ 10 ก.ค. 63 โดยมีนายทนุเกียรติ จันทร์ชุม ผู้อำนวยการฝ่ายกีฬาอาชีพและกีฬามวย การกีฬาแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้แทนกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมเสวนา
สำหรับประเด็นสำคัญในการเสวนาครั้งนี้ คือการหารือ ระดมความคิดเห็นในการออกคู่มือการเเข่งขันสำหรับการจัดการเเข่งขันวิ่ง เพื่อให้แนวทางการจัดการเเข่งขันเป็นตามมาตรการควบคุมเเละหลักตามมาตรการเสริม ของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) โดยมีหัวข้อสำคัญที่ควรดำเนินการให้เหมาะสมกับสถานการณ์การเเพร่ระบาด โดยมีเเนวทาง 16 เเนวทาง ดังนี้
1. ต้องลดจำนวนผู้เข้าร่วม ลดจำนวนของกรรมการเเละนักกีฬา ให้จำนวนสอดคล้องกับพื้นที่จัดการเเข่งขัน กำหนดให้มีระยะห่างระหว่างบุคคล ยืนหรือนั่ง ไม่น้อยกว่า 1 เมตร ต้องมีพื้นที่ในบริเวณที่มีการรวมตัวกันเป็นสัดส่วน 1 คน ต่อ 5 ตารางเมตร เเละต้องลงทะเบียนจัดการเเข่งขันในเเพลตฟอร์ม ''สปิริต'' ของกระทรวงการท่องเที่ยวเเละกีฬา รวมถึงการลงทะเบียนในเเอปพลิเคชัน ''ไทยชนะ''
2. ควรเปิดให้นักกีฬามีสิทธิ์ยกเลิกการเเข่งขันในกรณีที่พบว่านักกีฬามีอาการป่วย หรืออยู่ในภาวะที่มีความเสี่ยงจากการติดเชื้อ
3. หากเป็นไปได้ ควรจัดให้มีการทำประกันโควิด-19 ให้กรรมการ อาสาสมัคร เเละนักกีฬาที่เข้าร่วมการเเข่งขัน
4. ควรมีการรับรองตัวเอง โดยไม่ไปในพื้นที่เสี่ยงของการระบาด 14 วัน ทั้งนี้อาจมีการใช้แอปพลิเคชัน ''หมอชนะ'' เช็กอิน เพื่อแสดงประวัติเส้นทางการเดินทาง
5. ยกเลิกเข้าร่วมการเเข่งขันในกรณีที่คาดว่าตนมีความเสี่ยง หรือควรมีใบรับรองเเพทย์ โดยควรจะดำเนินการตรวจร่างกายหาไวรัสโควิด-19 เเละส่งผลการตรวจก่อนเข้าร่วมการเเข่งขัน ในกรณีที่ผู้สมัครจากต่างประเทศ การดำเนินการให้เป็นไปตามประกาศของราชการในช่วงเวลานั้นๆ
6.ควรลดกิจกรรมรวมตัว ก่อน หรือหลังการเเข่งขัน กิจกรรมใดที่เคยให้ฝูงชนมารวมตัว ควรมีให้น้อยลง เเละกระจายการเข้าร่วมกิจกรรม โดยใช้ระบบออนไลน์ทดแทน
7. ผู้เข้าร่วมการเเข่งขันเเละกิจกรรม ต้องเช็กอิน เเละเช็กเอาต์ ''ไทยชนะ''
8. ต้องมีสถานีคัดกรอง เพื่อวัดอุณหภูมิร่างกายของผู้ที่เข้ามาในบริเวณเเข่งขัน เเละควรมีจุดบริการเจล หรือ แอลกอฮอล์ล้างมือไว้ให้บริการ
9. ต้องยืนหรือนั่ง ห่างกันไม่น้อยกว่า 1 เมตร ในทุกกิจกรรม เช่น การยืนรอคิวเข้าห้องน้ำ ปล่อยตัว รับเหรียญ ฯลฯ รวมถึงระยะห่างกันของกรรมการในขณะปฏิบัติงาน
10. ต้องกำหนดให้หน้ากากอนามัย หรือ หน้ากากผ้าเป็นอุปกรณ์บังคับ ทั้งนักกีฬา กรรมการ
11. ควรปรับการปล่อยตัวให้เป็นกลุ่มย่อย โดยเน้นไม่ให้นักกีฬามาคอยการปล่อยตัวหน้าจุดเริ่มต้นดังเช่นในอดีต อย่างไรก็ตาม ก็ต้องพึงระวังว่า การปล่อยตัวในลักษณะนี้อาจใช้เวลาถึง 1 ชั่วโมง จากเดิมที่เคยใช้เวลา 5-10 นาที ซึ่งก็จะกระทบต่อเวลาในการดำเนินการเเข่งขันทั้งหมด
12. ควรระวังความแออัดที่สถานีบริการ โดยอาจสามารถบริหารจัดการ โดยเน้นให้นักกีฬาพกเครื่องดื่มมาเอง อย่างการวิ่งเทรล สามารถลดสถานีบริการให้น้อยลงได้ เเต่ต้องมีทรัพยากรเพียงพอ เเละกระจายจุดบริการให้สอดคล้องกับจำนวนนักวิ่ง
ขณะเดียวกัน ถ้าคงจำนวนความถี่ของสถานีบริการไว้ จะต้องเพิ่มระยะห่างของการบริการให้มากขึ้นกว่าเดิม โดยจัดบริการไว้บนโต๊ะ ที่เว้นระยะห่างมากกว่า 2-3 เท่า ของระยะปกติ โดยอาจให้นักวิ่งเลือกฝั่งการรับบริการตั้งเเต่เริ่มลงทะเบียน เพื่อกระจายความแออัด
หรืออาจใช้เจลให้พลังงานเเทนอาหาร โดยกรณีจำเป็นที่ต้องบริการอาหาร ควรเป็นอาหารประเภทปรุงสุกด้วยความร้อน เช่น น้ำซุป ผลไม้ควรมีเปลือก อาหารต่างๆ ก็ควรเป็นเเบบที่มีบรรจุภัณฑ์ห่อปิดเเบบมิดชิด
13. เเนวทางเหล่านี้เป็นเรื่องใหม่ ดังนั้นควรมีการกำหนดกฎระเบียบ เเละกฎกติกาการเเข่งขัน ต้องประกาศให้ทราบอย่างชัดเจน
14. จุดเริ่มต้นต้องมีความกว้างสอดคล้องกับผู้เข้าร่วมกิจกรรม เส้นทางการเเข่งขันควรเป็นเส้นทางตรง ไม่น้อยกว่า 400 เมตร จากจุดสตาร์ต หลีกเลี่ยงทางโค้ง เพื่อลดการเเออัดกันของนักวิ่งที่โค้งด้านใน เเละกิโลเมตรเเรกๆ ถนนควรมีความกว้างพอที่จะให้นักวิ่งกลุ่มนั้นๆ มีระยะห่างซึ่งกันเเละกันที่ปลอดภัย ส่วนการวิ่งเทรล ทาง Single Track ควรมีความกว้างพอที่จะให้นักวิ่งสามารถเเซงกันได้
15. ต้องทำความสะอาดสถานที่ก่อน ระหว่าง และหลังเเข่งขัน รวมถึงกำจัดขยะมูลฝอยภายในงาน
16. ควรมีทะเบียนรายชื่อทั้งนักกีฬา เเละกรรมการ รวมถึงกระบวนการติดตามผลผู้เข้าร่วมการเเข่งขันทั้งกรรมการเเละนักกีฬา ภายหลังการเเข่งขัน เเละอาจกำหนดให้เป็นการตอบเเบบสอบถามกลับมาภายใน 7 วัน เพื่อติดตามอาการป่วย (ที่อาจมี) ของผู้เข้าร่วมกิจกรรม ทั้งนี้อาจใช้เวลาประเมินผลกิจกรรมไปด้วยพร้อมกัน
หลังเสวนา นายทนุเกียรติ เปิดเผยว่า นี่คือสิ่งที่ กกท. ผู้จัดงาน หรือนักวิ่งพึงหวังให้เป็น อยากให้มีการกลับมาจัดการเเข่งขันอีกครั้ง หลังถูกปิดล็อกไปตั้งเเต่ช่วงปลายเดือน มี.ค. 63 ซึ่งวันนี้ก็ถือเป็นโอกาสดีที่เราจะได้มาร่วมกันเสวนาหลายฝ่าย เพื่อหามาตรการ ใส่ข้อคิดเห็นที่ควรจะเป็นในการออกคู่มือสำหรับการจัดงานวิ่งวิถีใหม่ ซึ่งสำหรับวิ่งทั้งเทรลและถนน เรากำลังร่างปรับแก้คู่มือให้เหมาะสม เพื่อเสนอต่อไปยังกระทรวงท่องเที่ยวเเละกีฬา เเละ ศบค. เพื่อขอให้อนุมัติกลับมาจัดการเเข่งขันอีกครั้งในยุคโควิด-19
ในช่วงเย็นวันเดียวกัน นายนภินทร ศรีสรรพางค์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานเปิดงานสาธิตการวิ่งเทรลวิถีใหม่ ซึ่งทำการแข่งขันแบบปิด ที่สวนพฤกษศาสตร์วรรณคดีภาคกลาง เขาประทับช้าง จ.ราชบุรี โดยมี ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการกกท. เดินทางมาร่วมงานเเละลงวิ่งสาธิตการเเข่งขันเทรลวิถีใหม่ ซึ่งทำการแข่งขันแบบปิดด้วย โดยกิจกรรมนี้ จัดขึ้นเพื่อหาจุดบกพร่อง หาข้อแก้ไขที่จะนำไปสู่การปรับแก้ทำคู่มือจัดการแข่งขันวิ่งเทรลและถนนด้วย
ดร.ก้องศักด เปิดเผยว่า สำหรับการจัดกิจกรรมสาธิต ก็เพื่อที่จะทดสอบระบบต่างๆ รวมถึงลงปฏิบัติตามกฎและมาตรการในหนังสือคู่มือ ซึ่งเราก็จะทดลองสาธิตทั้งการจัดแข่งขันแบบเทรล และการจัดบนถนน เพื่อหาจุดบกพร่อง นำมาแก้ไข และทำเป็นข้อสรุปออกเป็นหนังสือคู่มือการจัดการแข่งขันฉบับที่สมบูรณ์ต่อไป โดยในการจัดงานวิ่งเทรล เเละการวิ่งถนน หากทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน อย่างเร็วที่สุด 1 ส.ค. 63 เราอาจได้เห็นการกลับมาจัดเเข่งขันรายการวิ่งต่างๆ ASIA369 ในเมืองไทยอย่างเป็นทางการ